การวางอวนกุ้ง

การวางอวนกุ้ง เป็นอาชีพที่สำคัญของชาวเกาะยาว เป็นอาชีที่แสดงให้เห็นการพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้านในการประกอบอาชีพ สามารถพัฒนาอวนจับปลา จนสามารถผลิตอวนที่เหมาะสมในการจับกุ้ง ในการวางอวนกุ้งนั้นเป็นอวนเคลื่อนที่ จะอาศัยกระแสน้ำพัดพาอวนไปปะทะกับตัวกุ้ง จึงนิยมวางอวนในช่วงขณะที่น้ำไหลเชี่ยว คือในช่วงระหว่าง 11 ค่ำ ถึง 5 ค่ำทั้งข้างขึ้นและข้างแรมในทางจันทรคติ ซึ่งเรียกว่า “ น้ำใหญ่”

กุ้งที่ได้ก็มีกุ้งแชบ๊วย กุ้งชีแฮ้หรือกุ้งโอคัก กุ้งกุลาดำหรือกุ้งลาย และปลาที่หากินตามหน้าดิน อาชีพวางอวนกุ้งนี้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่ชาวประมง ในครอบครัวหนึ่งแม้ทำอวนกุ้งอย่างเดียวสามารถเลี้ยงครอบครัวและมีเงินเหลือเก็บได้ และก็เป็นอาชีพที่สร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพราะในแต่ละครอบครัว สามีภรรยาจะออกไปวางอวนกุ้งด้วยกันทุกวัน ทำให้ปัญหาในครอบครัวมีน้อยมาก

ลักษณะเด่นพิเศษอีกอย่างหนึ่งของอวนกุ้ง คือ อวนกุ้งนั้นประกอบด้วยฝืนอวนซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นนอกทั้ง 2 ด้าน เป็นอวนตาขนาดใหญ่ขนาดประมาณ 4 นิ้ว เรียกว่า “ตาขึง” คือมีหน้าที่ขึงอวนส่วนชั้นกลางเป็นอวนขนาด 2.5 เซนติเมตร เรียกว่า “ตามัด” คือมีหน้าที่มัดกุ้งให้ติดอยู่ เพราะฉะนั้น กุ้งที่จะมาติดอวนกุ้งต้องเป็นกุ้งขนาดตัวเต็มวัยที่มีขนาดใหญ่ กว่าตาอวน กุ้งตัวเล็กจะหลุดลอดอวนไปหมดไม่สามารถจับได้ จึงจะเห็นได้ว่าอวนกุ้งเป็นอวนที่อนุรักษ์ธรรมชาติ จับแต่กุ้งตัวใหญ่ ไม่จับแบบทำลายล้าง ทำให้กุ้งตัวเล็กมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตอีกต่อไป